นี่คือหัวข้อที่ผมอยากชวนคุณคุยในวันนี้ครับ
ตั้งแต่เมื่อเราลืมตาดูโลกขึ้นมา ทุกๆ คน บนโลกนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้เลย ว่าตัวเองจะได้อยู่บนโลกนี้ถึงตอนไหน เราอาจจะจากไปจากความแก่ชราตามอายุขัย จากไปกระทันหันจากอุบัติเหตุ หรือจากไปจากโรคภัยต่างๆ
แล้วแบบไหน คือ การจากไปอย่างสวยงาม ?
สำหรับผม การจากไปโดยที่ไม่สร้างความเดือนร้อน ความขัดแย้ง หรือปัญหาใดๆ ให้กับคนที่ยังอยู่ นั่นคือการจากไปอย่างสวยงามครับ ซึ่งเราทุกคนสามารถจากไปอย่างสวยงามได้ ด้วย การวางแผนมรดก (ที่ดี) เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เลย หลายท่านอาจจะคิดว่า เราไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี ไม่ได้มีมรดกมากมาย ไม่มีอะไรให้วางแผนหรอก
ผมขอแยกเป็น 2 ประเด็น ให้คุณลองคิดตามดูนะครับ
1. คนที่คุณต้องส่งเสีย เลี้ยงดู จะเป็นอย่างไร
ถ้าในปัจจุบันนี้ คุณมีคนที่ต้องส่งเสีย เลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คู่สมรส ลูกของคุณ หรือญาติพี่น้อง น้องหมา น้องแมว ทั้งหลาย หากคุณไม่อยู่แล้ว พวกเขามีความสามารถที่จะหารายได้ เลี้ยงดูตนเองได้หรือไม่ หรือ คุณได้เตรียมเงิน หรือทรัพย์สินต่างๆ หรือทำประกันชีวิตไว้ เพียงพอสำหรับพวกเขาแล้วหรือไม่
ต้องเตรียมเท่าไหร่ ถึงจะพอ
กรณีที่เป็นลูกนั้น ไม่ยากครับ เราสามารถตั้งธงได้ว่า ให้มีเงินพอส่งเสียให้ลูกเรียนจบ หลังจากนั้น เราก็คาดหวังได้ว่าเขาจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่สำหรับกรณีที่เราต้องส่งเสียเลี้ยงดู คุณพ่อ คุณแม่ หรือบุพการีของเรา พวกท่านมีแต่จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะให้พวกท่านกลับไปทำงานใหม่ตอนอายุมากๆ แล้วก็คงจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดใจของลูกหลาน สิ่งที่เราจะทำได้คือ พยายามเตรียมให้พอสำหรับใช้ตลอดอายุขัยของท่าน
ถ้ายังมีไม่พอ จะทำอย่างไรดี
การทำประกันชีวิต เป็นวิธีการสร้างเงินสดให้กับครอบครัวของคุณ ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด แบบประกันในปัจจุบันก็มีให้เลือกมากมาย คุณสามารถติดต่อที่ปรึกษาการเงินที่คุณไว้ใจให้ช่วยเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับคุณได้เลยครับ
2. คนที่จะต้องรับทรัพย์สิน สืบทอดมรดก ของคุณ จะมีปัญหาใดๆ หรือไม่
ตามกฎหมายไทย เมื่อเราจากไปแล้ว จะต้องมีกระบวนการในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นมา เป็นคนที่มีหน้าที่ในการจัดการแบ่งทรัพย์สินให้กับทายาท ซึ่งการแบ่งนี้ จะต้องจัดสรรให้ ตามพินัยกรรม เป็นอันดับแรก จากนั้นส่วนที่เหลือจึงจะถูกจัดสรรให้ทายาทโดยธรรม (เรียงลำดับ ลูก พ่อแม่ พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา + คู่สมรส) (ขอยกรายละเอียดเรื่องลำดับทายาทไว้บทความต่อๆ ไปนะครับ)
ดังนั้น หากเราไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเราจะถูกแบ่งให้กับทายาท
นี่แหละครับ จุดเริ่มต้นของปัญหา
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีลูก 2 คน
บ้าน ที่ดิน กิจการบริษัท ทั้งหมดของคุณ จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นของลูกทั้ง 2 คน คนละครึ่ง
โฉนดที่ดินก็เป็น 2 ชื่อถือร่วมกัน แล้วถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งอยากขาย แต่อีกคนไม่อยากขายหล่ะครับ
หรือ
ถ้าคุณมีโลก 2 ใบ (มีทายาทกับโลกทั้ง 2 ใบ)
….. ไม่อยากจะคิดเลยครับ….
มันอาจจะกลายเป็น ละครเลือดข้นคนจาง ฉบับชีวิตจริงได้ ซึ่งก็มีให้เห็นได้จริงๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ มาหลายต่อหลายรอบแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการจัดการ กว่าเงิน หรือทรัพย์สินต่างๆ จะถูกโอนมาให้ลูกหลานใช้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน
นี่ยังไม่รวมเรื่องภาษีมรดกและภาษีการรับให้ ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจะทำให้เกิดภาระภาษีแก่ทายาทที่รักของคุณ หรือผู้ที่คุณตั้งใจมอบมรดกให้ ตัวอย่าง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า ทายาทของ Samsung กำลังจะต้องเตรียมจ่ายภาษีมรดกก้อนใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าถึง 3.38 ล้านบาท …. มันไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ เลยนะครับ
แล้วเราจะจากไปอย่างสวยงามได้อย่างไร…
… วางแผนครับ…