ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่มียุคไหนที่กิ๋งรู้สึกว่า เงินสำรอง มีความสำคัญและจำเป็นสุดๆ จริงๆ เท่าช่วงเวลายุค covid นี้เลยค่ะ (กิ๋งยังไม่ได้สูงวัยมาก เลยยังไม่ได้เคยผ่านช่วงสงครามโลก)
เงินสำรองฉุกเฉิน คือเงินก้อนแรกที่เราต้องมี !!
ตามตำราที่สอนๆ กันมา จะบอกให้พวกเราเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้เท่ากับ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย
เหตุผลที่ตำราเขียนไว้ 3-6 เท่า เพราะเวลาเฉลี่ยของการขาดรายได้ของเราปกติ จะอยู่แค่ประมาณนี้ หมายความว่า ถ้าเกิดตกงาน ปกติพวกเราก็จะหางานใหม่กันได้ ภายใน 3 เดือน 6 เดือนไม่เกินนี้ เงินจำนวนนี้เลยเพียงพอให้ใช้ดำเนินชีวิตต่อไปก่อนได้ ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใคร
และเนื่องจากว่ามันคือ เงินฉุกเฉิน ชื่อก็บอกอยู่แล้วค่ะว่า มันด่วน เพราะฉะนั้น เงินส่วนนี้ จำเป็นต้องเก็บอยู่ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถดึงออกมาใช้ได้ภายใน 1-2 วัน ไม่เกินนี้ เช่น บัญชีเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน แหล่งเก็บเงินสภาพคล่องสูงนี้ แน่นอนว่าจะได้ผลตอบแทนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ตามตำราจึงไม่แนะนำให้เราเก็บเงินส่วนนี้มากเกินไป เรียกว่าเป็น lazy money คือเงินขี้เกียจ เงินขี้เกียจทำงาน เงินก็ไม่โต การสำรองเกินจำนวนไปจะทำให้เราเสียโอกาสในการให้เงินไปทำงาน คือลงทุนให้เงินโตงอกเงยขึ้นมา
นั่นคือ ตามตำรา ค่ะ
แต่กิ๋งเชื่อว่า ยุค covid นี้ หลายๆ ท่านเผชิญสภาวะที่หนักหน่วงแบบเงินสดสำรองตามตำราเอาไม่อยู่ เราไม่เคยนึกว่าอาชีพนักบินจะตกงาน เราไม่เคยเจอสภาวะที่ห้ามนั่งทานข้าวในร้านอาหาร หรือมีการปิดห้างเป็นเดือนๆ นี่คือเหตุการณ์ที่เราไม่เคยเจอ
ท่านใดที่พอจะมีเงินสำรองไว้ ก็คงได้เงินสำรองช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาไปได้บ้าง หลายๆ ท่านอาจจะต้องมีการขายทรัพย์สินมาเป็นเงินใช้ก่อน หรือกู้หนี้ยืมสินชั่วคราวกันมาก่อน
หลังจากทุกอย่างคลี่คลายไปแล้ว ค่อยมาเริ่มต้นเก็บกันใหม่ค่ะ
หรือใครที่ยังไม่เคยเก็บ รีบเริ่มต้นเก็บวันนี้เลยนะคะ
เก็บเท่าไหร่ ?
ขั้นต่ำคือตามตำราว่าไว้ ขั้นสูงก็แล้วแต่เลยค่ะ กิ๋งเชื่อว่าหลังจากช่วงนี้ไปทุกท่านน่าจะพอกะๆ ได้ ว่าเงินสดที่เราต้องการยามฉุกเฉินนั้นมันควรจะมีเท่าไหร่
เก็บที่ไหน ?
เก็บไว้ในที่ๆ เราจะไม่แตะต้องมันนอกจากฉุกเฉินจริงๆ (แยกจากบัญชีปกติ) และต้องมีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน
เก็บในที่อื่นๆ ที่เงินไม่ขี้เกียจได้มั๊ย ?
หลายคนอาจจะบอกว่า ชั้นซื้อหุ้น ขายออกมา 2 วันก็ได้เงินเหมือนกัน มันไม่เหมือนกันค่ะ เพราะหุ้นมีความผันผวน ถ้าเราเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาในวันที่หุ้นร่วง เราก็จำเป็นต้องขายขาดทุน เป็นการเสียเงินเพิ่มขึ้นไปอีก หลายคนอาจจะบอกว่า ชั้นซื้อ RMF LTF SSF ไว้ตั้งเยอะ เอาตรงนั้นขายมาใช้ก่อนก็ได้ ก็ไม่ดีเช่นกันค่ะ นอกจากความผันผวน ซึ่งอาจจะไม่ได้เยอะเท่าหุ้น แต่กองทุนพวกนี้มีข้อกำหนดการถือครองอยู่ ถ้าขายผิดเงื่อนไข เราก็จะมีปัญหากับสรรพากรในเรื่องที่เราได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป ต้องโดนค่าภาษีเพิ่ม เป็นการเสียเงินเพิ่มขึ้นไปอีก หุ้น กองทุน RMF LTF SSF ทั้งหลาย ไม่ใช่เงินสำรองฉุกเฉินค่ะ มันคือทรัพย์สิน เอามาใช้ได้ในยามจำเป็น แต่ใช้เงินสำรองก่อนดีกว่า เสียต้นทุนในการนำออกมาใช้น้อยกว่า
กิ๋งคิดว่า มีอีก 2 สิ่งที่สำคัญไม่แพ้เงินสำรองฉุกเฉิน จากวิกฤต covid ครั้งนี้
สิ่งแรกคือ เรื่องการกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ การมีหลายอาชีพ หรือมีแหล่งที่มาของรายได้หลายๆ ทาง จะช่วยเราได้มาก
สิ่งที่ 2 คือ ความสามารถในการปรับตัวของเราค่ะ ยิ่งเราปรับตัวได้เร็วมากเท่าไหร่ เราก็จะรอดวิกฤตไปได้เร็วเท่านั้น แบบที่ ชาลส์ ดาวินส์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ กล่าวไว้ว่า “It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent; it is the one most adaptable to change.”
มาเตรียมเงินก้อนแรกกันให้พร้อมไว้เสมอนะคะ
#เริ่มต้นวางแผนการเงิน
ปล. อ่านเรื่องเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มเติมได้อีกเยอะเลยนะคะ ของ SET ก็เขียนดีค่ะ https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/1-precuation-saving-to-avoid-financial-problem