ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน
ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน
อ่านแล้วก็งง นอนเลยดีกว่า zzz เอ๊ยยย
เพราะชีวิตเราเต็มไปด้วยความเสี่ยง
งวดนี้เราจะถูกหวยมั๊ย วันนี้หุ้นจะขึ้นหรือจะลง ขับรถอยู่ดีๆ ก็มีมอเตอร์ไซต์มาชน
วันนี้มีปาร์ตี้หมูกระทะ พรุ่งนี้อาหารเป็นพิษ ฯลฯ
เค้าบอกๆ กันว่า ให้ทำประกันป้องกันความเสี่ยง
เสี่ยงเต็มไปหมดเลยแบบนี้ แล้วเราจะต้องทำประกันอะไรกันบ้าง
เรามาแยกประเภทความเสี่ยงก่อนนะคะ
ความเสี่ยงประเภท “งวดนี้เราจะถูกหวยมั๊ย”, “วันนี้หุ้นจะขึ้นหรือจะลง” เราเรียกว่า ความเสี่ยงภัยที่มุ่งเก็งกำไร (Speculative Risk) เป็นความเสี่ยงที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเราได้ เราเสมอตัว หรือเราเสียหาย แบบนี้เราเป็นคงเอาตัวเข้าไปเสี่ยงเอง (เราไปซื้อหวยเอง) เราก็ต้องรับความเสี่ยงเอง ไม่สามารถทำประกันได้ค่ะ (ถ้ามีประกันที่จ่ายค่าปลอบใจให้กุ๋งกิ๋งเวลาที่ไม่ถูกหวย กุ๋งกิ๋งคงรวยไปแล้ว )
ความเสี่ยงประเภท “ขับรถอยู่ดีๆ ก็มีมอเตอร์ไซต์มาชน”, “วันนี้มีปาร์ตี้หมูกระทะ พรุ่งนี้อาหารเป็นพิษ” เราเรียกว่า ความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure Risk) เป็นความเสี่ยงที่เราไม่มีทางได้รับประโยชน์จากเหตุที่เกิดขึ้น (การถูกมอเตอร์ไซต์ชน, อาหารเป็นพิษ) มีแค่เสียหาย หรือไม่เสียหาย เท่านั้น แบบนี้ทำประกันได้ค่ะ
แล้วเราต้องทำประกันทุกอย่างที่เป็น Pure Risk เลยมั๊ย
เรามีหลักการในเรื่องนี้อยู่ค่ะ คือ การพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดเหตุ กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เทียบกับต้นทุนที่เราต้องจ่ายกับความคุ้มครองที่เราจะได้รับ
ถ้าเหตุการณ์นั้น มีโอกาสเกิดน้อย และความเสียหายก็น้อย เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับมันใช่มั๊ยคะ เกิดก็ไม่ค่อยเกิด ต่อให้เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้เสียหายอะไรกับเรามาก เราก็รับความเสี่ยงนั้นได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เช่น เหตุรองเท้าแตะสายขาด หรือเรารีดเสื้อไหม้
ถ้าเหตุการณ์นั้น มีโอกาสเกิดมาก แต่ความเสียหายก็น้อย อันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อน จะแค่น่ารำคาญหน่อยๆ เช่น สำหรับบางคนที่โดนฝนปุ๊บ จะเป็นหวัดปั๊บ แบบนี้ เราก็สามารถที่จะควบคุมปัจจัยของความเสี่ยงได้ ก็คือ อย่าไปโดนฝนสิ แต่ถ้ามันจะต้องโดนจริงๆ เราจะเป็นหวัดนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร นั่นก็คือ เรารับความเสี่ยงไว้เองได้
ถ้าเหตุการณ์นั้น มีโอกาสเกิดมาก และเกิดแล้วมีความเสียหายมากๆ ด้วย เช่น โอกาสเกิดอุบัติเหตุตอนเมาแล้วขับ กรณีแบบนี้ ถึงเราอยากทำประกัน ก็ไม่มี บ. ไหนรับประกันให้ค่ะ หรือถ้ารับ เบี้ยที่ บ.ประกันนั้นจะเรียกเก็บก็จะต้องแพงมากๆๆๆๆ เพราะโอกาสเกิดมันมาก แปลว่า บ. ประกันเค้าไม่มีคนมาเฉลี่ยภัยด้วย (ย้อนไปอ่าน No24 เรื่องกำเนิดประกันได้จ้า) เหตุแบบนี้ เราต้องหลีกเลี่ยงสถานเดียวค่ะ ถ้าเมาก็ห้ามขับ ถ้าจะขับก็ห้ามเมา
ถ้าเหตุการณ์นั้น มีโอกาสเกิดน้อย และเกิดแล้วมีความเสียหายมากๆ แบบนี้คือเหตุที่เหมาะกับการทำประกันค่ะ เพราะต้นทุนในการทำประกันไม่สูงเกินไป (ใช้หลักการเฉลี่ยภัยได้) และทำให้เราได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายมากๆ (ซึ่งถ้าเราไม่ทำประกัน เราจะรับความเสียหายนี้เองไม่ไหว) ได้ เหตุพวกนี้ ได้แก่ ไฟไหม้ รถชน เราไม่สวรรค์ เราไม่สบายหนักๆ ต้องเข้า รพ. ฯลฯ ซึ่งก็คือสินค้าประกันที่พวกเราเห็นๆ กันอยู่
ในชีวิตจริง โอกาสที่จะเกิดเหตุ กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุต่างๆ ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เช่น ถ้าเกิดในครอบครัวของเรา มี คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เป็นมะเร็งกันทุกคนเลย แบบนี้เราก็จะต้องเรียกว่า เรามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ ที่มี คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย แข็งแรงดี หรือถ้าเราเป็นคนโสด ตัวคนเดียว ไม่ต้องดูแลใคร การที่เราจะหนีไปสวรรค์ ก็น่าจะเกิดความเสียหายกับคนที่ยังอยู่บนโลกน้อยกว่า ถ้าเราเป็นคุณพ่อ ที่ต้องดูแลเมีย 2 ลูก 4 หมาอีก 3 เป็นต้น
ดังนี้ การจะทำประกันอะไร ทำเท่าไหร่ บ้างนั้น เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลเลยจ้าา ไปลอกการบ้านเพื่อนไม่ได้ แต่หลังไมค์มาปรึกษากุ๋งกิ๋งได้นะคะ
ย้ำอีกครั้งนะคะ ว่าการบริหารความเสี่ยง เป็นฐานพีระมิดชั้นแรกสุด ที่จะทำให้การเงินของเราแข็งแรง อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนมีรากฐานการเงินที่แข็งแรง เราจะได้ไปลั๊ลลากันได้อย่างสบายใจจ้าา
#การบริหารความเสี่ยง
#เริ่มต้นวางแผนการเงิน
Cr. หนังสือหลักสูตรวางแผนการเงิน ชุดวิชาที่ 3 การวางแผนการประกันภัย โดย ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บทที่ 2 การจัดการความเสี่ยงภัย